วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

การอาบน้ำ

การอาบน้ำก็เป็นอีกขั้นตอนการดูแลหนึ่งที่เจ้าของสุนัขควรจะพึงทราบไว้บ้าง (ถึงแม้บางท่านจะใช้บริการร้านกรูมมิ่งเป็นประจำ) แต่ถ้าหากอยู่ในภาวะที่จำเป็นที่จะต้องอาบน้ำให้สุนัขเอง ก็ควรต้องทราบข้อมูลเบื้องต้นไว้บ้าง เพราะบางท่านอาจยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องของความถี่ในการอาบน้ำให้ลูกสุนัข ซึ่งจะขอแยกอธิบายเป็นส่วนของลูกสุนัข และสุนัขโต

การอาบน้ำลูกสุนัข
เราไม่ควรอาบน้ำให้มันถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดให้แห้ง เช็ดความสกปรก หรือใช้แปรงและหวีขนเบาๆ ก็เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับการทำความสะอาดให้กับลูกสุนัข หรือถ้าเรารู้สึกว่าไม่ได้อาบน้ำให้มันนานมากจนลูกสุนัขของคุณมีการส่งกลิ่นเหม็นก็ค่อยอาบให้มัน เพราะความจริงแล้วเราควรอาบน้ำให้ลูกสุนัขเมื่ออายุได้ 3 เดือนขึ้นไป หากได้รับสุนัขมาจากที่อื่นก็ควรพิจารณาว่ามีความสะอาดมากน้อยเพียงใด สำรวจดูว่ามีเห็บ หมัด ติดมาด้วยหรือไม่ หากมีก็จัดการอาบน้ำให้ลูกสุนัขเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเห็บ หมัด ไปสู่ตัวอื่น

การอาบน้ำสุนัขโต
สำหรับสุนัขที่โตแล้วสามารถอาบน้ำได้ทุก 1-2 สัปดาห์ หรือเมื่อคุณเห็นว่าสุนัขมีเนื้อตัวที่สกปรก การอาบน้ำให้กับสุนัข ควรเลือกอาบในเวลากลางวันที่มีแดดออก แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นแดดที่จัดเกินไป ควรเป็นแดดอ่อนๆ อากาศไม่หนาวจนเกินไป คือสามารถให้สุนัขผึ่งตัวเองให้แห้งได้ (หรือถ้าไม่ทันใจก็สามารถใช้เครื่องเป่าขนของสุนัขให้แห้ง โดยเลือกระดับความร้อนต่ำ) แชมพูที่ใช้อาบน้ำให้สุนัขควรเป็นแชมพูที่ผลิตโดยเฉพาะ เพราะจะไม่ส่งผลกระทบต่อการระคายเคืองของผิวหนัง และสภาพของขน

ในขณะที่อาบน้ำอาจใช้สำลีอุดหูทั้งสองข้างของสุนัข เพื่อป้องกันน้ำเข้าหู และเอามือกดใบหูทั้งสองข้างให้หลุบลง เวลาอาบน้ำก็ราดน้ำให้สุนัขเปียกทั่วตัวเสียก่อนจึงเทแชมพูลงไป แล้วเกาให้ทั่วลำตัว ขาหนีบ อวัยวะเพศ ก้น ซึ่งเป็นที่ที่เก็บกลิ่นของสุนัขเป็นอย่างดี หลังจากที่เสร็จขั้นตอนการสระก็ฉีดน้ำทำความสะอาดตัวให้สะอาดทุกจุด เพราะการที่เราล้างเอาแชมพูออกไม่หมด จะเป็นการสะสมสารเคมีไว้ที่บริเวณผิวหนังและขน ส่งผลให้เกิดโรคผิวหนัง เชื้อรา หรือขนร่วงตามมาได้

หลังจากที่ทำความสะอาดเนื้อตัวของสุนัขจนเรียบร้อยแล้ว ก็นำสุนัขมาเช็ดตัว ขอเน้นย้ำว่าในการเช็ดตัวให้กับสุนัข ควรเช็ดให้แห้ง หรือทำให้แห้งโดยวิธีการเป่า เพราะถ้าเราเช็ดตัวไม่แห้งแล้วปล่อยสุนัขไป อาจทำให้สุนัขเป็นโรคปอดบวม และมีอาการเชื้อราที่เกิดจากความอับชื้นได้

จากหนังสือ AMERCAN PITBULL DOG'S STORY

วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาเกี่ยวกับเห็บ

เห็บเป็นตัวการที่สร้างปัญหาโรคร้ายแรงหลายชนิดแก่วงการสุนัขในประเทศไทย ส่วนมากสุนัขที่มีเห็บมีสาเหตุมาจากเจ้าของดูแลสุนัขไม่ดีเท่าที่ควร หรือเจ้าของไม่เข้าใจขั้นตอนการกำจัดอย่างถูกวิธี วิธีในการกำจัดเห็บให้ได้ผดีและถูกต้องที่สุด คุณจะต้องวางตารางการกำจัดตั้งแต่เริ่มเลี้ยงสุนัขตัวแรก พยายามกำจัดตัวแก่โดยการจัับใส่ขวดน้ำมันเครื่องเท่าที่จะทำได้ก่อน (อย่างจับแล้วบี้ให้แตก) แล้วจึงปฏิบัติการดังนี้ทุกๆ อาทิตย์ อาทิตย์ละครั้ง

1. ใช้ยาผงที่มีขายตามร้านสัตวแพทย์โรยตามตัวและขยี้ให้ทั่วตัวทุกส่วนของร่างกายสุนัขแม้แต่ในรูหู ก่อนซื้อมาใช้ตามคำแนะนำนี้ควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนจะเป็นดีที่สุด

2. ใช้ยาที่ผสมน้ำได้ เช่น อาซุนโทน อาบหรือเช็ดตามตัว ทำหลังจากอาบน้ำสุนัขเรียบร้อยแล้ว ก่อนใช้ยานี้ควรศึกษาทางหนีทีไล่ปัญหาที่สุนัขอาจจะแพ้ยาให้เรียบร้อยก่อน

3. ใช้แชมพูที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการกำจัดเห็บโดยเฉพาะ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน เพราะสะดวกและไม่ยุ่งยากเหมือนวิธีที่กล่าวมาข้างต้น โดยคุณควรเลือกแชมพูที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมี เพราะจะทำให้สารเคมีตกค้างบริเวณผิวหนังสุนัขได้

จากหนังสือ AMERCAN PITBULL DOG'S STORY

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

การถ่ายพยาธิ

การถ่ายพยาธินั้นมีความจำเป็นต่อลูกสุนัขมาก เพราะลูกสุนัขที่ไม่เคยถ่ายพยาธิเลย มีความเสี่ยงต่อการที่จะมีพยาธิตัวกลมและพยาธิปากขอเข้าไปอยู่ในลำไส้ของสุนัขได้ ทำให้สุนัขผอมแห้ง ขาดสารอาหาร และตายได้ในเวลาต่อมา เนื่องจากพยาธิเข้าไปแย่งอาหาร

ซึ่งพยาธิเหล่านี้สามารถถ่ายทอดจากรกแม่สู่ลูกได้ คือพูดง่ายๆ ว่าเมื่อคลอดออกมาก็มีพยาธิอยู่ในท้องเลยและมันจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจะสังเกตอาการได้จากการที่ลูกสุนัขผอมแต่พุงโต ภายในจะเต็มไปด้วยพยาธิ ซึ่งพยาธินี้จะทำให้ลำไส้อุดตันและทำให้ลูกสุนัขตายในที่สุด

วิธีการถ่ายพยาธิให้กับลูกสุนัขคือ ถ่ายพยาธิ 3 วันติดต่อกัน แล้วเว้นช่วงไป 15 วัน แล้วถ่ายพยาธิซ้ำอีก 3 วัน หลังจากนั้นควรถ่ายพยาธิเดือนละครั้งทุกๆ เดือน ถึงจะปลอดภัยต่อการเป็นโรคพยาธิ

ส่วนพวกเห็บ หมัด ไร นั้นเป็นพยาธิภายนอกที่เราสามารถกำจัดออกได้ คือเมื่อเราดึงเห็บ หมัด ออกจากตัวสุนัขแล้วไม่ควรบี้ให้แตก เพราะเห็บจะมีไข่อยู่ข้างในเมื่อบีบมัน ไข่ก็จะแพร่กระจายเติบโตขึ้นมาเป็นตัวได้อีกควรกำจัดโดยการใส่ลงในขวดน้ำมันที่เตรียมไว้ และในปัจจุบันนี้ก็มีตัวยาที่สามารถกำจัดเห็บหมัด ด้วยการหยอดที่บริเวณหลังของสุนัข ซึ่งก็เป็นที่นิยมและไ้ด้ผลดี แต่อย่างไรก็ดีในการใช้สารเคมีกับตัวสุนัขควรจะปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

คำแนะนำเกี่ยวกับพยาธิ
1. นำสุนัขของท่านไปให้สัตวแพทย์ตรวจพยาธิหนอนหัวใจทุก 6 เดือน หลังจากสุนัขมีอายุ 9 เดือนขึ้นไป
2. ควรนำอุจจาระที่ถ่ายใหม่ใส่ภาชนะที่สะอาดไปให้สัตวแพทย์ตรวจเดือนละครั้ง

จากหนังสือ AMERCAN PITBULL DOG'S STORY

วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

การฉีดวัคซีน

เมื่อเราไ้ด้สุนัขตัวใหม่มาสิ่งที่เราจะต้องทำเป็นสิ่งแรกก็คือ จะต้องนำมันไปฉีดวัคซีนทันที
โรคที่เกี่ยวกับสุนัข เป็นปัญหาที่ผู้เลี้ยงไม่ควรมองข้ามไปอย่างยิ่ง เพราะปีหนึ่งๆ มักเกิดโรคกับสุนัขเสมอ และบางครั้งทำให้ผู้เพาะพันธุ์ขาดทุนหมดตัวก็มี เพราะขาดการป้องกันที่ถูกต้อง ซึ่งบางท่านคิดว่าการป้องกันทำให้เสียเงิน เข้าตำราที่ว่า "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" สุนัขที่เป็นโรคนั้นส่วนใหญ่ถ้าได้รับการป้องกันไว้แต่แรกเริ่มโดยการฉีดวัคซีนแล้วจะช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์เป็นโรคติดต่อได้ง่ายแม้จะไม่ได้ผล 100% ก็ตาม แต่ก็นับว่าได้ผลดีพอสมควร ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่เจ้าของสุนัขได้

การฉีดวัคซีนในสุนัข
1. วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัข, โรคตับอักเสบติดต่อ และโรคเล็บโตสไปโรซิส
- เข็มแรกควรฉีด เมื่อสุนัขอายุได้ 2 เดือน
- เข็มที่สองควรฉีด เมื่อสุนัขอายุได้ 2 เดือนครึ่งถึง 3 เดือน
- สุนัขพ่อพันธุ์ ควรฉีดซ้ำทุกๆ ปี สุนัขแม่พันธุ์ควรฉีดก่อนมีประจำเดือนถ้าต้องการผสม
2. วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดเมื่อสุนัขอายุได้ 4 เดือน และควรฉีดซ้ำทุกๆ ปี บางคนกล่าวว่า ถ้าเลี้ยงสุนัข ภายในบ้านที่มีรั้วรอบมิดชิดก็ไม่จำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้ สุนัขเป็นโรคนี้ได้จากหนูหรือค้างคาวที่เป็นโรคนี้ แล้วมากัดสุนัขของท่านเข้า สุนัขจะเป็นโรคนี้ได้ และอาจติดต่อถึงคนโดยสุนัขอาจจะกัดหรือเลียท่านและเด็กภายในบ้านได้




จากหนังสือ AMERCAN PITBULL DOG'S STORY


วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

การเลือกเพศของสุนัข

คนส่วนใหญ่มักตั้งคำถามว่าควรจะเลือกเลี้ยงสุนัขตัวผู้หรือตัวเมียดีกว่ากัน ตรงนี้เป็นเรื่องที่ตอบค่อนข้างยาก เพราะจริงๆ แล้วทั้งสองเพศก็มีความใกล้เคียงกัน ทั้งในเรื่องของความซน การเชื่อฟัง ความฉลาด แต่ถ้าจะให้แนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อสุนัขเพื่อนำมาผสมพันธุ์ขาย หรือเพื่อการประกวด ควรเลือกซื้อสุนัขเพศเมียจะดีกว่า เพราะหากเรามีสุนัขเพศเมียและตัวเมียเราไม่ค่อยสวยเท่าที่ควร เรายังสามารถเฟ้นหาตัวผู้ที่มีลักษณะที่ดีมาผสมพันธุ์กับตัวเมียได้ (เพราะเจ้าของตัวเมียเป็นคนจ่ายเงินให้เจ้าของตัวผู้ในการผสมพันธุ์) ซึ่งเราก็จะได้ลูกสุนัขที่สวย แต่ในทางกลับกันถ้าเรามีแต่ตัวผู้แต่มันไม่ค่อยสวย แล้วเราจะหาแม่พันธุ์ที่สวยๆ มาผสมกับตัวผู้ของเราก็ท่าจะยาก เพราะคงไม่มีเจ้าของแม่พันธุ์ตัวไหนยอมเสียเงินเพื่อมาผสมกับพ่อพันธุ์ที่ดูด้อยกว่า

แต่ถ้าท่านจะเลือกซื้อเพื่อเลี้ยงเล่นทั่วไป ก็ไม่มีข้อจำกัดอะไรมาก แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ซึ่งก็จะนำข้อเสนอให้ท่านพิจารณาในเรื่องการเลือกเพศ ดังนี้

สุนัขเพศเมีย
เมื่อโตเป็นสาวเต็มที่ก็จะติดสัดปีละ 2 ครั้ง และทุกครั้งก็จะมีประจำเดือนไหลออกมาจากอวัยวะเพศ ผู้เลี้ยงจะต้องคอยระวังไม่ให้เลอะข้าวของในบ้าน อีกทั้งยังต้องคอยระวังเวลาพาสุนัขออกไปนอกบ้านว่าจะมีตัวผู้มาทำเจ้าชู้ด้วยหรือเปล่า และเมื่อสุนัขพันธุ์พิทบูลตั้งครรภ์ อาจจะค่อนข้างลำบากและมีความเสี่ยงว่าจะต้องมีการผ่าทำคลอดในบางครั้งหากลูกสุนัขค่อนข้างคลอดยาก และแม่สุนัขไม่สามารถคลอดเองได้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการฝากครรภ์กับสัตว์แพทย์ที่ไว้ใจได้ด้วย

สุนัขเพศผู้
สุนัขเพศผู้นั้นเมื่อถึงวัยที่สามารถยกขาตัวเองได้แล้ว ก็มักจะยกขาแล้วฉี่เรี่ยราดไปทั่วบริเวณบ้าน ผู้เลี้ยงจะต้องพาสุนัขไปปลดทุกข์วันละประมาณ 3 ครั้ง ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน ไม่อย่างนั้นก็อาจจะทำเลอะเทอะในบ้านได้เช่นกัน

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงต้องตัดสินใจกันเองว่าชอบเพศไหน และมีความสามารถในการดูแลสุนัขได้มากน้อยแค่ไหนด้วย

ลักษณะมาตรฐานภายนอก
หมายถึงรูปลักษณะภายนอกที่บ่งบอกให้เห็นความสมบูรณ์ของอวัยวะแต่ละส่วนว่ามีความถูกต้องตามหลักมาตรฐานสายพันธุ์ของพิทบูลหรือไม่
1. ส่วนหัว ให้พิจารณาโดยสายตาและเอามือลูบคลำ หัวที่ได้มาตรฐานควรมีขนาดใหญ่ กลมเท่ากันทั้งศีรษะ ไม่ยุบหรือบวมข้างใดข้างหนึ่ง
2. ตา ตาต้องไม่เหล่ ไม่เข มีขนาดเท่ากันทั้งสองข้าง สามารกะพริบตาได้เร็วเพราะจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการรับรู้ อย่าเลือกลูกสุนัขที่มีขี้ตาเกรอะกรัง เพราะนั่นอาแสดงว่าสุนัขมีอาการป่วยอยู่
3. หู ตั้ง ใบหูได้รูป ไม่มีอาการเป็นแผลบริเวณใบหู ทดสอบการฟังของหูโดยการปรบมือหรือสั่นกุญแจดู หากมีการหันตามเสียงปรบมือหรือสั่นกุญแจถือว่าปกติ
4. จมูก ต้องเรียบชื้นเป็นมัน แต่ไม่ถึงกับฉ่ำไปด้วยน้ำ จับปลายจมูกดูจะต้องเย็น ถ้าร้อนแห้ง มีน้ำมูกไม่ว่าใสหรือข้น แสดงว่าลูกสุนัขไม่สบาย
5. ปากและฟัน ปากไม่มีแผล หรือแหว่ง หรือไม่เท่ากันทั้งสอบซีกเหงือกของสุนัขควรจะสีชมพูสดใส ถ้าเหงือกซีดแสดงว่ามีอาการโลหิตจาง การเรียงตัวของฟันต้องสบกันพอดี
6. ผิวหนัง จะต้องมีความยืดหยุ่น ไม่เป็นแผลหรือตุ่มหนองตามลำตัว หรือใต้ท้อง
7. ขน จะต้องมีขนที่เป็นประกาย อ่อนนุ่ม แต่ไม่ถึงกับนิ่มมาก
8. ลำตัว ขนาดพอเหมาะ อกลึก ไม่อ้วน ไม่ผอมเกินไป สังเกตุดูจากบริเวณท้องต้องไม่แผบหรือป่องเกินไป เพราะนั่นอาจเกิดจากการที่สุนัขมีพยาธิอยู่ในลำไส้มาก ถ้ามีอาการสะดือปูดออกมาอาจมีปัญหาไส้เลื่อนได้
9. ทวารหนัก บริเวณทวารหนักไม่มีอาการบวมแดง เป็นแผลอักเสบหรือมีเศษอุจจาระติดอยู่ เพราะอาจแสดงให้เห็นว่าลูกสุนัขมีอาการท้องเสีย
10. เท้า เท้าของพิทบูลจะต้องไม่กางออกมากเป็นตีนเป็ด เวลายืนขาหน้าต้องตั้งตรงขนานกัน สำหรับขาหลังยืดตรงหรือเอียงมาข้างหน้าได้เล็กน้อย
11. อวัยวะสืบพันธุ์ สำหรับเพศผู้ต้องมีการตรวจดูให้แน่ใจว่ามีลูกอัณฑะครบทั้งสองข้าง การที่ลูกสุนัขมีลูกอัณฑะข้างเดียวถือเป็นความผิดที่รุนแรง สำหรับเพศเมียต้องดูรูเปิดอวัยวะเพศว่าไม่ผิดปกติ
12. บุคลิก - ลักษณะนิสัยของสุนัข ในการจะเลือกซื้อลูกสุนัข ควรจะเลือกซื้อตัวที่ดูมีความกระตือรือร้น แววตาแสดงความอยากรู้อยากเห็น ไม่ควรเลือกตัวที่ขี้อายสังเกตได้จากเวลาที่เราเรียกหรือยื่นมือไปใกล้ๆ มันจะพยายามหนี หรือหลบไปอยู่หลังตัวอื่น แบบนี้ไม่ควรเลือก เพราะเป็นสุนัขที่ขี้กลัว จะค่อนข้างยากในการฝึก ควรเลือกตัวที่เมื่อเราเรียกหรือแสดงปฏิกริยาต่างๆ แล้วสุนัขให้ความสนใจ หรือเดินเข้ามาหา นั่นแสดงว่ามันเป็นสุนัขที่ีไม่กลัวคน มีอัธยาศัยที่ดี ง่ายต่อการฝึก

จากหนังสือ AMERCAN PITBULL DOG'S STORY

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

การคัดเลือกลูกสุนัข

คนส่วนใหญ่เมื่อมีความต้องการเลี้ยงสุนัขมักจะใจร้อน รีบหารีบซื้อมาจากสถานที่ใดก็ได้ โดยที่ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดของแต่ละสายพันธุ์ที่ตนต้องการเลี้ยงว่ามีลักษณะมาตรฐานสายพันธ์เป็นอย่างไร การเลี้ยงดูยากง่ายแค่ไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบกลับมาภายหลังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาลูกสุนัขเป็นโรคหรือเสียชีวิตหลังจากนำมาเลี้ยงไม่นาน หรือเมื่อสุนัขโตขึ้นมีรูปร่างหน้าตาผิดแปลกไปจากสายพันธุ์เดิมที่ควรจะเป็น ไม่เหมือนที่เจ้าของคิดไว้ ฯลฯ ทุกปัญหาที่กล่าวมาเกิดจากความใจเร็วด่วนได้ของผู้ต้องการจะเลี้ยงสุนัขโดยไม่ได้ศึกษาก่อนล่วงหน้า

ในบทนี้จึงมีความต้องการในการแนะแนวทางสำหรับผู้ที่ต้องการจะเลี้ยงสุนัขว่ามีหลักในการเลือกซื้อสุนัขจากแหล่งไหนที่ไว้ใจได้ รวมถึงวิธีการเลี้ยงสุนัขว่ามีหลักในการเลือกซื้อสุนัขจากแหล่งไหนที่ไว้ใจได้ รวมถึงวิธีการในการดูเรื่องของมาตรฐานสายพันธุ์พิทบูล ว่าต้องเลือกซื้อลักษณะเช่นไร ถึงจะไม่โดนคนขายหลอก

สถานที่
เมื่อเรามีความต้องการว่าอยากจะได้ลูกสุนัขมาเลี้ยงสักตัวหนึ่งนั้นอยากเน้นย้ำว่าไม่ต้องใจร้อน แต่ขอให้ศึกษาว่ามีแหล่งไหนที่มีความน่าเชื่อถือที่จะเลือกซื้อลูกสุนัขได้ แนะนำว่าขอให้เลือกซื้อตามฟาร์มที่ไว้ใจได้ คำว่าไว้ใจได้อาจจะเกิดจากการที่มีเพื่อนแนะนำ หรือเกิดจากการที่เราไปเฝ้าสังเกตการณืที่ฟาร์มด้วยตนเอง เราอาจจะเข้าไปดูโดยที่ไม่บอกเจ้าของฟาร์มก่อนว่าจะเข้าไป เพื่อที่เราจะได้เห็นสภาพที่แท้จริงว่าฟาร์มที่เราจะซื้อสุนัขนั้น มีสภาพความเป็นอยู่และการดูแลสุนัขที่ดีเพียงพอหรือไม่ หรือในปัจจุบันมีวิวัฒนาการก้าวหน้า คุณสามารถดูและเลือกซื้อสุนัขผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสุดท้ายแล้วคุณก็ต้องเข้าไปดูด้วยตัวของคุณเองเพื่อการตัดสินใจซื้อ

สิ่งที่อยากจะฝากในการซื้อสุนัขคือ งบประมาณในการซื้อ ขอให้ซื้อตามงบประมาณที่ตัวเองกำหนดแต่ก็ไม่ควรจะต่ำเกินไป เพราะสุนัขที่ราคาถูกเกินไปอาจเป็นสุนัขที่ยังไงม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งเมื่อท่านซื้อมาแล้วอาจก่อให้เกิดปัญหาภายหลัง เช่นเป็นโรคเรื้อรังซึ่งต้องทำให้ท่านต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก หรือไม่ก็ตายไปเลย หรือบางครั้งซื้อมาคนขายบอกว่าเป็นสุนัขพันธุ์นั้นแต่พอโตขึ้นมากลายเป็นสุนัขพันธุ์อื่นก็มี ซึ่งก็ทำให้ผู้เลี้ยงผิดหวังเป็นอย่างมาก อยากเลี้ยงอีกพันธุ์แต่โตขึ้นกลายเป็นอีกพันธุ์ ตรงนี้จึงอยากย้ำว่าขอให้ซื้อจากแหล่งที่ไว้ใจได้จริงๆ และราคาอยู่ในอัตราปานกลาง เพราะอย่าลืมว่าถ้าท่านซื้อสุนัขราคาถูกมาแต่มีปัญหาเกิดขึ้นท่านต้องเสียเงินกับสุนัขตัวนั้นตลอด ซึ่งถ้าคิดเป็นเงินแล้วคงมากกว่าที่ท่านยอมซื้อสุนัขดีๆ สักตัว แต่ไม่ต้องมีปัญหาปวดหัวภายหลัง และที่สำคัญสุนัขเป็นสัตว์ที่มีอายุประมาณ 10-15 ปี เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับมันเราจะต้องดูแลมันตลอดชีวิตเลยทีเดียว

วิธีการเลือกซื้อ
สำหรับการเลือกซื้อลูกสุนัขนั้นควรเลือกที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 60 วันขึ้นไป คนไทยส่วนใหญ่นั้นมักซื้อลูกสุนัขเมื่ออายุประมาณ 45 วันเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงมากเนื่องจากลูกสุนัขยังได้รับวัคซีนไม่ครบ ทางที่ดีควรเลือกซื้อสุนัขในวัยที่หย่านมแล้ว ซึ่งลูกสุนัขจะไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่จากแม่สุนัข และลูกสุนัขวัยนี้จะปรับตัวในเรื่องการกินอาหารตามที่ผู้เลี้ยงได้จัดไว้ได้แล้ว อีกทั้งลูกสุนัขวัยนี้เป็นวัยที่พร้อมจะรับบทเรียนได้ดีที่สุด เพราะเริ่มเข้าใจการฝึกบทเรียนที่จะทำความคุ้นเคยกับที่อยู่และการขับถ่าย

จากหนังสือ AMERCAN PITBULL DOG'S STORY


วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2553

มาตรฐานสายพันธุ์อเมริกันพิทบูลเทอร์เรีย

ลักษณะโดยรวม
ควรจะมีรูปร่างที่แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง สำหรับขนาดของเขาโดยรวมควรดูเป็นสุนัขที่สมส่วนมองเห็นกล้ามเนื้อได้ชัดเจน คล่องแคล่วว่องไว และสง่างาม แสดงความสนใจต่อสิ่งรอบตัว ช่วงขาไม่ควรยาวหรือดูเพรียวเหมือนสุนัขวิ่งแข่ง ความกล้าหาญที่สู้ไม่ถอยคือชื่อเสียงของสุนัขพันธุ์นี้

ส่วนหัว
มีความยาวปานกลาง กะโหลกกว้าง กล้ามเนื้อที่แก้มชัดเจนมาก หน้าผากหักตั้งฉากชัดเจน หูอยู่ในตำแหน่งสูงจะตัดหรือไม่ตัดก็ได้ หูที่ไม่ตัดควรสั้นครึ่งหนึ่ง หรือม้วนในลักษณะที่คล้ายดอกกุหลาบ หูตกพับทั้งใบหูเป็นข้อบกพร่อง ดวงตามีสีเข้มและกลม อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำบนกะโหลกและค่อยข้างห่างกัน เปลือกตาไม่เป็นสีชมพู ปากมีความยาวปานกลาง ด้านบนกลมกลึงและลาดลงชัดเจนบริเวณใกล้ดวงตา กรามแข็งแรงชัดเจนแสดงถึงพลังในการกัด ริมฝีปากชิดและกระชับไม่ห้อยหย่อนยาน ฟันบนชิดกับด้านหน้าของฟันล่าง จมูกสีดำปนแดง

ลำคอ
ใหญ่ โค้งงอเล็กน้อย จากหัวไหล่ถึงด้านหลังของกะโหลก หนังไม่หย่อนยาน มีความยาวปานกลาง

ไหล่
แข็งแรง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อหัวไหล่ที่ลาดลง

หลัง
ค่อนข้างสั้น เอียงลาดลงเล็กน้อยจากหัวไหล่ถึงสะโพก ส่วนหลังจากสะโพกถึงหางเอียงลงเล็กน้อยในช่วงสั้นๆ กล้ามเนื้อช่วงก้นโค้งเข้าหาตัวเล็กน้อย

ลำตัว
ซี่โครงแผ่ออกกว้างและลึก ซี่โครงแต่ละซี่ติดกัน ขาหน้าอยู่ห่างกันพอสมควรเพื่อให้ส่วนอกมีพื้นที่กว้างและลึก

หาง
สั้น เมื่อเทียบกับขนาดตัว อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำ โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กลงเป็นปลายแหลม ไม่ม้วนหรือโค้งขึ้นหลัง ไม่ตัดหาง

ขา
ขาหน้าตรงใหญ่ และกระดูกขากลมกลึง ช่วงขาตั้งตรง ไม่มีความโค้งงอเมื่อมองจากด้านหน้า ช่วงหลังเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ขาหลังไม่หันเข้าหรือออก เท้ามีขนาดพอเหมาะ โค้งได้รูปและแน่น การก้าวย่างเหยาะมีการสปริงตัวดีไม่ช้า

ขน
สั้นแนบตัว ขนแข็งและเป็นมัน

สี
มีทุกสี ไม่ว่าจะเป็นสีเดียว หลายสี หรือมีแต้มเป็นวงๆ แต่ไม่ควรเป็นสีขาวล้วน

ขนาด
ความสูง เพศผู้ 18-19 นิ้ว เพศเมีย 18 นิ้ว น้ำหนักควรได้สัดส่วนกับความสูง

ข้อบกพร่อง มีดวงตาสีอ่อน หรือสีชมพู หางยาวหรือโค้งงอ ปากยื่นข้างบนหรือข้างล่าง

ช่วงอายุ มีอายุประมาณ 12-15 ปี

จากหนังสือ AMERCAN PITBULL DOG'S STORY

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

อุปนิสัยและลักษณะเฉพาะตัว

อเมริกันพิทบูลและอเมริกันสแตฟฟอร์ดเชียร์นั้นเป็นสุนัขที่ถูกเพาะพันธุ์มาอย่างดี โดยผู้เพาะพันธุ์ที่รู้จริงและมีความรับผิดชอบนั้น มีความจงรักภักดีต่อเจ้าของและต้องการการเอาใจใส่จากเจ้าของสูงมาก เป็นสุนัขที่มีความอดทน และมีความพยายามแบบสู้ไม่ถอยมากที่สุดในโลก เขาเป็นสุนัขที่กล้าหาญ สง่างาม และแข็งแรงที่สุดต่อน้ำหนักตัวที่เท่ากัน

ความสู้ไม่ถอยของอเมริกันพิทบูลเป็นอีกอุปนิสัยหนึ่งที่เกี่ยวกับการอยู่รอดของมันโดยตรง ในการกัดสุนัขสมัยโบราณนั้นสุนัขกัดที่ไม่แสดงความเข้มแข็ง สุนัขที่แสดงอาการยอมแพ้ต่อคู่ต่อสู้และสุนัขที่แสดงอาการหวาดกลัวแม้แต่เล็กน้อย จะถูกยิงทิ้งที่ข้างสังเวียนทันทีโดยไม่มีข้อแม้ สุนัขกัดเหล่านี้ถูกตั้งความหวังไว้ให้สู้จนลมหายใจสุดท้ายถึงแม้จะต้องตายก็ยังจะแสดงอาการไม่ยอมแพ้ ซึ่งสุนัขที่ทำได้ถึงแม้จะแพ้ก็จะได้รับการชื่นชม และมักจะถูกเก็บไว้เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ต่อไป แม้ว่าจะไม่สามารถต่อสู้ได้อีก จริงอยู่ว่าอุปนิสัยที่สู้ไม่ถอยนั้นได้มาจากการผสมสายพันธุ์เทอร์เรียเข้าไปด้วย แต่ก็ไม่เคยมีสุนัขประเภทเทอร์เรียพันธุ์ใดที่ต้องถูกฆ่าหากใจไม่สู้ ดังนั้นอเมริกันพิทบูล จึงเรียกได้ว่าเป็นสุนัขที่มีใจสู้มากที่สุดในโลกก็ว่าได้

สิ่งที่พิเศษสุดสำหรับอเมริกันพิทบูลและสุนัขประเภทเดียวกัน จะเป็นอะไรไปเสียไม่ได้นอกจากความแข็งแกร่งที่ไม่มีสุนัขพันธุ์อื่นที่มีน้ำหนักตัวเท่ากันเทียบได้ เขามีช่วงขาที่ยาวพอเหมาะเพื่อให้เคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว มีคอที่ยาวพอเหมาะกับการกัดคู่ต่อสู้แม้ว่าตนเองจะถูกกัดอยู่ก็ตาม มีกรามที่แข็งแรงโดยที่สามารถกัดได้นานโดยที่ไม่ต้องปล่อยได้นานกว่าใคร จนต้องมีเครื่องมือพิเศษในการช่วยงัดปาก กล้ามเนื้อที่แน่นที่โดนกระแทกจะบาดเจ็บได้น้อย และมีหนังเหนียวและอุปนิสัยที่สู้ไม่ถอยจึงทำให้เขาเป็นสุนัขนักสู้ที่สุนัขพันธุ์อื่นไม่ควรต่อกรด้วยเด็ดขาด ในปัจจุบันการกัดสุนัขถูกห้ามด้วยกฎหมาย เจ้าของเหล่านี้ก็ได้หาเกมการแข่งขันใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อแสดงความแข็งแรงของสุนัข ซึ่งการแข่งขันที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่คนเลี้ยงสุนัขประเภทนี้คือ การแข่งลากน้ำหนัก โดยที่สุนัขจะถูกให้ลากของที่มีน้ำหนัก เป็นต้น โดยแบ่งตามน้ำหนักของสุนัข และดูว่าใครสามารถลากน้ำหนักได้มากกว่ากัน

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ อเมริกันพิทบูล เป็นสุนัขที่มีความดุร้ายกับสุนัขด้วยกันอยู่ในตัวมากสืบเนื่องมาจากการเป็นสุนัขกัดนั่นเอง ปกติเขาจะไม่ใช่สุนัขที่จะหาเรื่องใครก่อน แต่ถ้าใครมาหาเรื่องเขาล่ะก็ อย่าหาว่าเขาไม่เตือนก็แล้วกัน ลักษณะสายพันธุ์ส่วนนี้ น่าเสียดายที่เป็นสิ่งที่เจ้าของไม่สามารถจะแก้ไขได้เลย ถึงแม้ว่าผู้เลี้ยงจะเลี้ยงดูมาอย่างดีก็ตาม ไม่ผูก ไม่ล่าม ไม่ตี และพาเขาออกไปเที่ยวนอกบ้านพบปะเพื่อนหมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก ซึ่งเมื่อตอนที่เป็นลูกสุนัขเขาก็จะเล่นกับสุนัขตัวอื่นได้ตามปกติ แต่เมื่อเขามีอายุย่างเข้าสู่วัยหนุ่มเมื่อไหร่ เขาจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปอย่างรวดเร็ว คุณไม่สามารถจะเลี้ยอเมริกันพิทบูลแบบที่คุณเลี้ยงลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์และหวังว่าเค้าจะมีนิสัยแบบลาบราดอร์รีฟเวอร์ได้ คุณอาจทำได้เพียงการเลี้ยงให้เขาเป็นสุนัขที่ไม่หาเรื่องใครก่อนและยอมเล่นกับสุนัขตัวอื่นได้ตราบใดที่เพื่อนเล่นจะไม่ยั่วโมโหเขาก่อน เขาอาจจะอยู่ด้วยกันได้กับสุนัขตัวอื่นในบ้าน แต่ก็เป็นเรื่องที่พบได้ไม่บ่อยนัก ปกติคุณจะพบว่าผู้ที่เลี้ยงอเมริกันพิทบูลหลายตัวจะขังแต่ละตัวไว้แยกต่างหากเพื่อป้องกันการกัดกันที่อาจจะเกิดขึ้นว่า การปล่อยให้อเมริกันพิทบูลกัดกันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นเด็ดขาดพอๆ กับการปล่อยให้เขาเดินเล่นโดยไม่มีเจ้าของคอยคุมหรือไม่มีเครื่องป้องกันการที่เขาจะเผลอไปทำร้ายคนอื่นเพราะความเจ้าอารมณ์และหงุดหงิดง่ายของเขานั่นเอง

สุนัขพันธุ์อื่นๆ อาจกัดกันเพื่อแสดงความเป็นใหญ่และเลิกกัดเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงอาการยอมแพ้ แต่สำหรับอเมริกันพิทบูลนั้นการกัดเป็นการต่อสู้ชนิดหนึ่งที่คู่ต่อสู้อาจไม่มีชีวิตรอด ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อย่างเช่นการกัดกันของสุนัข สิ่งหนึ่งที่ผู้เลี้ยงอเมริกันพิทบูลมือใหม่ควรรู้นั่นก็คือคุณควรหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะทำให้เจ้าตูบนักสู้ของคุณเกิดฉุนกึกจนได้โอกาสกัดสุนัขตัวอื่นหรือ แม้แต่มนุษย์เป็นครั้งแรก เพราะมันจะทำให้เขาติดเหมือนยาเสพติด เช่นเดียวกับที่สุนัขลากเลื่อนรักการลากเลื่อนเป็นชีวิตจิตใจ และสุนัขต้อนแกะรักการต้อนแกะ อเมริกันพิทบูลก็เป็นนักสู้ที่รักการต่อสู้โดยสายพันธุ์ และเมื่อคุณได้ปลุกจิตสำนึกแห่งการต่อสู้ของเขาขึ้นมาแล้ว คุณก็จะได้สุนัขนักสู้เต็มตัวเลยทีเดียว

จากหนังสือ AMERCAN PITBULL DOG'S STORY