ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของอเมริกันพิทบูลเทอร์เรีย

     ในประเทศอังกฤษสมัยโบราณ มีการนิยมเล่นกีฬา Bullbaiting ที่เป็นการใช้สุนัขสู้กับวัวกระทิงให้คนดู และสุนัขที่ใช้ในเกมกีฬานี้ จะต้องเป็นสุนัขที่ปากใหญ่แข็งแรงสามารถกัดวัวได้ไม่ปล่อยง่ายๆ มีจมูกสั้นแบนเพื่อให้หายใจได้ถนัดในเวลาที่กัด และร่างกายที่แข็งแรงพร้อมหนังที่เหนียวทนแรงกระแทกและการบาดเจ็บจากเขาที่ทิ่มแทงของวัวกระทิง ซึ่งสุนัขเหล่านี้เองที่เรียกว่าบูลด็อกในสมัยโบราณ สุนัขบลูด็อกเหล่านี้ถูกผสมเข้ากับสุนัขประเภทเทอร์เรียที่มีความดื้อด้านไม่ท้อถอย เพื่อให้ได้ลูกสุนัขที่มีเลือดนักสู้ที่สมบูรณ์ที่สุด ด้วยกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ทนทาน หนังเหนียวไม่เป็นแผลง่ายๆ มีใบหูที่ถูกตัดจนสั้นเพื่อไม่ให้คู่ต่อสู้กัดดึงใบหูไว้ได้ มีฟันกรามที่มีพลังจึงสามารถกัดคู่ต่อสู้ได้นานโดยไม่ปล่อยและยังมีใจสู้ไม่ถอยของเทอร์เรีย อันเป็นที่มาของคำว่า บลู และ เทอร์เรีย ในชื่อสายพันธุ์ปัจจุบันนั่นเอง

     ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ได้กำเนิดสุนัขขึ้นหลายสายพันธุ์ด้วยกัน คือ สุนัขพันธุ์สแตฟฟอร์ดเชียร์บูลเทอร์เรีย Staffordshire Bull Terrier เป็นสุนัขที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างสุนัขบูลด็อกและเทอร์เรียของชาว Staffords ที่มีขนาดเล็กกว่า คือมีน้ำหนักที่ 30-45 ปอนด์ เท่านั้น สแตฟฟอร์ดเชียร์บูลเทอร์เรีย ได้รับการยอมรับให้เป็นสุนัขพันธุ์แท้โดยสมาคมของอังกฤษในปี 1938 และได้รับการยอมรับโดย AKC (American kennel club) ในปี 1975

     ในช่วงเวลานั้นชาวอังกฤษเิริ่มอพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาและผู้คนเหล่านี้ก็ได้นำสุนัขประเภทที่ใช้ในการกัดสุนัขเข้าไปด้วย เกมกีฬากัดสุนัขได้เข้าไประบาดในอเมริกา โดยคนเหล่านี้ได้นำสุนัขเข้าไปกัดกันในสังเวียน Pit และเล่นการพนันกับการกัดสุนัขนี้ ดังนั้นในอเมริกาจึงมีชื่อเรียกสุนัขต่างๆ เหล่านี้มากมายหลายชื่อตามประสาชาวบ้านตั้งแต่ Pitbull Terrier, Pitterier, Staffordshire Fighting Dgs, Yankee Terrier และในที่สุดก็ได้กลายมาเป็น อเมริกันพิทบูลเทอร์เรีย อเมริกันสแตฟฟอร์ดเชียเทอร์เรีย และอเมริกันบูลด็อก ในปัจจุบัน

     ยูไนเต็ดเคนเนลคลับ (United kennel Club หรือ UKC) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในอเมริกา ในปี 1898 เพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัขอเมริกันพิทบูลเทอร์เรียโดยเฉพาะ สุนัขตัวแรกที่จดทะเบียนกับ UKC ล้วนเป็นสุนัขนักสู้ที่มีชื่อเสียงซึ่งปัจจุบันนี้ยังคงมีลูกหลานที่สามารถหาซื้อได้ ต่อมาเมื่อการกัดสุนัขถูกห้ามโดยกฎหมายในอเมริกา เจ้าของอเมริกันพิทบูลบางส่วนนั้นต้องการแยกสุนัขของเขาให้ห่างจากการเป็นสุนัขกัดให้มากที่สุด จึงได้ตั้งชื่อใหม่เป็นอเมริกันสแตฟฟอร์ดเชียร์เทอร์เรีย ที่ไม่มีคำว่า Pit และได้รับการยอมรับโดย AKC ในชื่อนี้

     ถ้าหากจะกล่าวสั้นๆ ก็คือ อเมริกันพิทบูล นั้นก็เป็นสุนัขพันธุ์เดียวกันที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นสองชื่อ คือตาม UKC จะจดเป็นชื่ออเมริกันพิทบูล แต่ตาม AKC จะจดเป็นชื่ออเมริกันสแตฟฟอร์ดเชียร์ นั่นเอง อย่างไรก็ตามการขึ้นทะเบียนเป็นสองชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้มีผลกระทบหลายอย่างด้วยกัน ฝ่ายที่ต้องการจดทะเบียนเป็นอเมริกันพิทบูลนั้นเชื่อว่า อเมริกันพิทบูลนั้นเป็นสุนัขที่ใช้กัด และถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการกัดสุนัขแล้วก็ตามการเพาะพันธุ์ก็ยังควรจะให้ความสำคัญกับลักษณะรูปร่างที่ช่วยให้ต่อสู้ได้ดีขึ้น ไม่ใช่เน้นให้สวยงามเพื่อการประกวดที่มักจะทำให้ความสามารถในการต่อสู้ด้อยลงไป ในขณะที่ฝ่ายอเมริกันสแตฟฟอร์ดเชียร์ นั้นเชื่อว่าสุนัขของตนไม่ได้สูญเสียความสามารถในการต่อสู้แต่อย่างใดและให้ความเห็นว่า อเมริกันสแตฟฟอร์ดเชียร์ นั้นที่จริงเป็นสุนัขที่มาจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เป็นอเมริกันพิทบูลอยู่ดี ดังนั้นทั้งสองพันธุ์จึงไม่มีความแตกต่าง และเจ้าของอเมริกันสแตฟฟอร์ดเชียร์ ที่จดทะเบียนสุนัขตัวเดียวกันให้เป็นทั้งอเมริกันพิทบูลกับ UKC และอเมริกันสแตฟฟอร์ดเชียร์กับ AKC ก็มีอยู่มาก

     สรุปก็คือถ้ามองจากมุมมองที่ว่า อเมริกันสแตฟฟอร์ดเชียร์ นั้นก็เป็นสุนัขที่เป็นลูกหลานของอเมริกันพิทบูลทุกตัวอยู่แล้ว ถ้าจะพูดว่าเป็นพันธุ์เดียวกันก็ไม่ผิด แต่ถ้ามองจากมุมที่ว่า สุนัขถึงจะมีสายเลือดเดียวกันแต่เมื่อผู้เพาะพันธุ์ผสมโดยเน้นลักษณะจุดเด่นที่ต่างกันก็อาจจะเรียกว่าเป็นคนละสายพันธุ์ก็ได้ เหมือนกับบูลเทอร์เรียก็เป็นสุนัขที่สืบสายพันธุ์มาจากบูลด๊อกและเทอร์เรีย เช่นเดียวกันกับอเมริกันพิทบูล แต่เมื่อผู้เพาะพันธุ์เลือกที่จะเน้นจุดเด่นที่ต่างกันออกไปนานๆ เข้า บูลเทอร์เรียก็กลายเป็นสุนัขที่ไม่มีความคล้ายอเมริกันพิทบูลเลยและก็กลายเป็นคนละสายพันธุ์ไปในที่สุด ซึ่งถ้ามองจากมุมนี้การที่จะบอกว่า อเมริกันสแตฟฟอร์ดเชียร์ เป็นคนละสายพันธุ์กันกับอเมริกันพิทบูลจึงไม่ผิดเช่นกัน และสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการนี้ จะเป็นอเมริกันสแตฟฟอร์ดเชียร์ หรือ อเมริกันพิทบูล ถ้าเป็นสุนัขหน้าตาอย่างนี้ก็จะเรียกว่า พิทบูล นั่นเอง

ข้อมูลจาก หนังสือ AMERICAN PITBULL DOG'S STORY